วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

my idol ท่านพี่5314786

ประสบการณ์ทางวิญญาณของข้าพเจ้า

เคาะสนิมเก่าก่อน
เริ่ม ตั้งแต่ได้เข้าไปอยู่วัดเพื่อเตรียมตัวบวช หรือช่วงที่เค้าเรียกกันว่าผ้าขาว นี่เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ผมจะได้บวช จึงไม่รู้ว่าการเป็นผ้าขาวที่วัดอื่นเค้าเป็นกันยังไง แต่ที่ผมรู้ก็คือว่า การเป็นผ้าขาวของวัดอ้อน้อยนั้น ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายต้องพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจตนเอง ให้แข็งแกร่ง และอดทนได้ต่อทุกสภาวะการณ์

เพราะ การเป็นผ้าขาวที่นี่ ยามเช้า จะต้องตื่นตั้งแต่เช้า เพื่อสวดมนต์ทำวัตร ปัดกวาดทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆของบริเวณวัดตามที่ได้รับมอบหมาย ก่อนที่จะได้ทานอาหารมื้อเช้า หลังจากทานเสร็จ ก็จะแจกจ่ายงานกัน ตามกำลังตามความสามารถและความสมัครใจ ของแต่ละคนหลังจากทำงานเสร็จก็จะได้ทานอาหารมื้อเพลกัน เมื่อทานเสร็จ เก็บล้างกันเรียบร้อย ยามบ่ายก็แจกจ่ายงานกันตามหน้าที่ต่อ ได้ทำงานกันจนถึงเย็นจึงจะได้พักผ่อน อาบน้ำและซักผ้า ซึ่งงานต่างๆภายในวัด ก็มีอยู่ด้วยกันมากมายหลากหลาย

ยกตัวอย่างเช่น งานจัดคลังของสงฆ์ ซึ่งจะเป็นคลังข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างจีวร บาตร ผ้าต่างๆ และอีกมายมากก่ายกอง งานที่โรงยา ก็จะเป็นจำพวกทำยา ทำเครื่องสำอางสมุนไพร หรืองานเล็กๆเบาๆอย่างเช่น จัดยา สบู่ ยาสีฟัน ยาหม่อง ใส่ซอง เพื่อเตรียมแจกให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม งานตัดหญ้าภายในวัด ซึ่งมีเนื้อทีจำนวนมาก งานในคลังอาหาร ก็จะเป็นงานจำพวก จัดข้าวสารอาหารแห้ง บรรจุเพื่อเตรียมแจกให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม และจัดข้าวของต่างๆที่ได้รับบริจาคมาในแต่ละวันๆ
ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็มีคนนำมาถวายหลวงปู่อยู่เรื่อยๆมาทีก็เป็นคันรถๆ เลยทีเดียว

งานพัฒนาวัด จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงานบวช ตัดและตกแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้ ต้นไผ่ ยกของ แบกหาม เก็บถังขยะตามจุดต่างๆ เพื่อนำไปทิ้งบ้าง ใบไม้ก็นำไปทิ้งที่โรงปุ๋ยเพื่อทำปุ๋ย กิ่งไม้ก็นำไปทำฟืนและไม้ไผ่ก็นำไปตัดแต่งเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆอีกมากมาย เสร็จแล้วก็มาประชุมกันสวดมนต์ทำวัตรเย็นกันต่อ จนถึงสามทุ่มก็แยกย้ายกันพักผ่อน ส่วนใครที่มีงานที่ต้องรับผิดชอบต่อ

ตั้งแต่ สามทุ่มจนถึงตีหนึ่ง ก็ต้องไปทำงานต่อ นั่นคืองานหุงข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องเริ่มงานกันตั้งแต่สามทุ่ม จนถึงตีหนึ่งจึงได้นอนพักผ่อน หรืองานที่ต้องช่วยหลวงปู่ทำกับข้าวแจกน้ำท่วม ก็ต้องตื่นกันตั้งแต่ตีสอง ตีสาม และงานแพ๊คข้าวลงถุงเป็นชุดๆ เพื่อเตรียมรอแจกผู้ประสบภัยก็ต้องเริ่มกันตั้งแต่ตีสอง ตีสาม แล้วก็ยังต้องแบ่งคนไปจำนวนนึงเพื่อติดรถไปช่วยแจกของให้กับผู้ประสบภัยทุกๆ วัน ซึ่งต้องนั่งรถตากแดด ลุยน้ำไปแจกของ ไปวันละรอบบ้างสองรอบบ้าง บางครั้งไปตั้งแต่เช้า กลับมาค่ำมืดดึกดื่นก็มี ช่วงชีวิตผ้าขาวที่วัดแห่งนี้ มีแต่คำว่างานๆๆๆและงาน

ผมจำได้ว่าผมทำงานจนแทบไม่มีเวลาท่องคำขอบวช แทบไม่มีเวลาที่จะได้นอน
แทบไม่มีเวลาที่จะซักผ้า หรืออาบน้ำ ทำจนดึกดื่น บางวันทำจนเดินแบบไร้สิ้นเรี่ยวแรงกลับไปยังที่นอนของตัวเอง จนบางครั้ง เมื่อร่างกายมันได้ทำงานจนถึงขีดสุด กิเลสที่มันฝังตัวอยู่มากมาย ความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย มันก็ได้กำเริบ เกิดขึ้นมาให้เห็นมากมาย จนบางทีข้าพเจ้าต้องถามกับตัวเองว่า เราจะทำงานนี้ต่อไปไหม หรือจะหลีกลี้หนีออกไปและให้ผู้อื่นมารับผิดชอบแทนเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป เลย อย่างนี้ก็มี



งานที่วัดนี้จึงมีอยู่สองอย่าง คืองานภายนอกกับงานภายใน ต้องทำควบคู่กันไปจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เพื่อที่จะเคาะสนิมเก่าที่ติดในกายใจ คือมานะ ทิฐิ ความถือตัว ความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย จึงต้องทำงานเพื่อส่วนรวมและเวลาจะทำอะไรก็ต้องคิดถึงส่วนรวมอยู่ตลอด เวลาทำงานกับคนหมู่มาก จะเอาแต่ ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ไม่ได้จะต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆคน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน

แล้วก็มีอยู่หลายคนที่ต้องกลับบ้านไปก่อนที่จะได้บวช เพราะอดทนการฝึกปรือไม่ไหว
ปรับตัวไม่ได้ ปรับใจไม่ทัน เพราะบางคนก็ไม่เคยต้องมาทำงานหนักขนาดนี้มาก่อน คนที่สมัครมาจำนวนร้อยกว่าคน เมื่อถึงวันที่จะบวชจริงๆ จึงเหลือเพียงแค่ 99 คน พอดีแบบไม่ขาดไม่เกิน แล้วก็มีสมัครบวชเณรอีก 2 คน ที่อดทนรอคอยจนได้บวช จนเมื่อถึงวันที่ได้บวชเป็นนาค หลวงปู่ท่านจึงได้พูดขึ้นก่อนทำพิธีขลิบผมนาคว่า พวกท่านได้ผ่านบททดสอบแรกแล้ว

เพราะได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะบวชอยู่ในอาวาสแห่ง นี้ได้ ทำให้พวกเราเกิดความภาคภูมิใจ เป็นอย่างมาก ว่าในที่สุดเราก็จะได้บวชกันซักที
สำหรับผมแล้วการจะได้บวชที่วัดนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย 


เผาให้ร้อนก่อนตีให้งาม

เมื่อถึงวันที่รอคอย คือวันที่พวกเราได้บวช วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าได้เห็นภาพประทับใจแบบ
ไม่มีวันลืมไปได้เลย คือเมื่อตอนที่เจ้าคณะอำเภอ กำแพงแสนได้เดินทางมาเป็นอุปปัชฌาย์ในการบรรพชาเป็นสามเณรก่อนที่จะไป อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ต่อไป ในขณะที่หลวงปู่ได้เข้าไปกราบท่านเจ้าคณะอำเภอ ท่านเจ้าคณะอำเภอนั่งอยู่บนเก้าอี้ หลวงปู่ท่านนั่งกับพื้นกำลังจะก้มกราบท่านเจ้าคณะ
ท่านเจ้าคณะอำเภอ รีบลุกขึ้นจากเก้าอี้ ลงมานั่งกับพื้นแล้วทั้งสองท่านก็กราบทำความเคารพซึ่งกันและกัน แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของทั้งสองท่านเป็นภาพที่ตรึงตราตรึงใจข้าพเจ้า เป็นอย่างมาก จนยากที่จะลืมได้ลง


เมื่อได้ทำพิธีบรรพชาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว มันก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความระมัดระวัง
ในกายวาจาใจของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะศีล 227 ข้อนั้นมันช่างละเอียดอ่อน และบอบบางยิ่งนัก
ซึ่งหลวงปู่ท่านก็เคยพูดเอาไว้ว่า ศีลของพระบางเหมือนดั่งใยแมงมุม ถ้าพลั้งเผลอเพียงนิดเดียว
มันก็ขาดลงไปได้อย่างง่ายดาย หลวงปู่ท่านจึงบอกว่า ถ้ามันแต่จะมานั่งเรียนกันอย่างละเอียดทีละข้อๆ
นั้นมันคงจะเสียเวลานานเกินไป เรามีเวลาอยู่ในเพศบรรชิตเพียงไม่นาน ก็ให้พึงระวังรักษาใจ

มิให้ขาดตกบกพร่อง เพราะ ศีลที่ท่านพึงรักษากันนั้น จะบริสุทธิ์ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับใจของท่านนั้น
เป็นเหตุ ท่านจงพึงระวังรักษาใจให้ถึงพร้อม เพียรเฝ้าระวัง กาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ศีลที่เพียรพยายามระวังรักษานั้นก็จะพึงบริสุทธิ์ได้ ถ้าถามว่าทำไมศีลของพระจึงบอบบางยิ่งนัก ข้าพเจ้าจะลองยกตัวอย่าง ให้ได้ศึกษากันดู อย่างเช่น การฉันข้าว ให้ภิกษุพึงฉันอย่างสำรวมระวัง ๑ เวลาฉันต้องมองแต่เพียงภายในบาตร ๑เวลาฉันห้ามเคี้ยวข้าวจนเต็มกระพุ้งแก้ม ๑ ห้ามเคี้ยวข้าวเสียงดัง ๑ ห้ามคุยเวลาฉัน ๑ ห้ามกัดหรือฉีกอาหาร ๑ห้ามซดน้ำแกงเสียงดังซู้ด ๑ ห้ามยืนถ่ายเบา
(ยืนฉี่) ๑ เวลาใช้ขันน้ำเสร็จแล้วต้องคว่ำขันก่อนออกจากห้องน้ำ ๑

ที่ยกตัวอย่างมาก็พอจะทำให้เห็นได้ว่าการที่จะรักษาศีลทั้ง 227 ข้อ นั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ในการที่จะทำให้เราไม่ทำผิดศีลได้นั้นคือ สติ หากเรา เดิน กิน นั่งนอน อย่างไร้ซึ่งสติ ศีลทั้งหลาย
เราก็จะรักษาเอาไว้ไม่ได้ แต่หากทุกอิริยาบถ เรามีสติ ในการเดิน การดื่ม การกิน การนั่งหรือการนอนก็ดี
เราก็จะพึงเป็น ภิกษุผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ หรือศีลวิสุทธิ ซึ่งจะทำให้เกิด จิตอันบริสุทธิ์ หรือจิตวิสุทธิ
และเมื่อมีจิตวิสุทธิ ก็จะทำให้เกิดปัญญาอันบริสุทธิ์ หรือปัญญาวิสุทธิขึ้นมาได้ตามลำดับ ตามเหตุและปัจจัย

ศีลทุกข้อ จึงล้วนแต่มีเหตุและปัจจัย ที่จะฝึกให้เราเป็นผู้มีสติ ทางกาย ทางวาจา แล้วที่สุดก็ทางใจ
ซึ่งก็จะตรงกับคำสอนของหลวงปู่ ที่ว่า ผู้มีสติทางกาย กายนี้ไม่ลำบาก ผู้มีสติทางวาจา วาจานี้ไม่ลำบาก
ผู้มีสติทางใจ ใจนี้ไม่ลำบาก ถ้าเราเป็นภิกษุผู้ทรงสติแล้วไซร้ เราก็จะหมดปัญหา เรื่องการระวังรักษาศีล
หลวงปู่ท่านจึงเน้นสอนให้ระวังรักษาใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะที่สุดแล้วใจมันก็จะแสดงออกมาทางกายและวาจา ซึ่งคำสอนของหลวงปู่นั้น เป็นเหตุเป็นผล อย่างสมบูรณ์ ลงตัวและเหมาะสมเลยทีเดียว


เมิ่อพวกเราถูกเคาะสนิม ความสกปรกออกกายใจเรียบร้อยแล้ว เราก็เหมาะที่จะถูกเผาให้ร้อนก่อน
จะนำไปทุบตีให้เป็นเหล็กที่ดี เป็นเหล็กที่กล้า เป็นดาบที่คมได้ เพื่อจะใช้ฟันฝ่าปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆนานา ที่จะเข้ามาในชีวิตประจำวัน หรือในวันต่อไปข้างหน้า และยังจะใช้เพื่อประหัตประหารกิเลสที่ฝังรากหยั่งลึกที่อยู่ในกายใจให้สิ้น ลงไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และสภาพของตัวเหล็กเองว่าจะทนต่อความร้อนและการทุบตีได้เพียงใดขนาดไหน


หลังจากที่เราได้เป็นภิกษุกันแล้ว หลวงปู่ท่านก็เริ่มลดอาหารมื้อเช้าลง จากปกติได้ฉันข้าว
ท่านก็สั่งให้เตรียมกล้วย ส้ม ฝรั่ง ผลไม้ต่างๆ บางครั้งก็มีขนมปังรูปละชิ้นสองชิ้นและนมให้ฉันแทนข้าว ก่อนที่จะออกธุดงค์ไปที่ทองผาภูมิ เพื่อปรับสภาพร่างกายให้เหมาะสมต่อการเจริญสติ และการภาวนา เพราะจากการที่ข้าพเจ้าได้เคยสังเกต จากตัวเองดู ก็พบว่าการลดปริมาณอาหาร ลงให้พอเหมาะพอดี กับร่างกาย มันจะช่วยทำให้ สติมั่นคงมากขึ้น ความง่วงหงาวหาวนอน ก็จะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ แต่ถ้าฉันมากเกินไป พอฉันเสร็จ ความง่วง ความเกียจคร้าน ก็จะเข้ามาแทนที่
กำลังสติก็จะลดน้อยถอยลง เหลือเพียงกำลังของกิเลส ที่จะวิ่งหาหมอนหาเสื่ออยู่ตลอดเวลา

ข้าพเจ้าคิดว่าจริงๆหลวงปู่อาจจะตั้งใจ ให้พระฉันเพียงมื้อเดียวเสียด้วยซ้ำ แต่ท่านคงดูจากสภาพ
ร่างกาย ของพระใหม่ที่อาจปรับตัวไม่ทัน จะทำให้เป็นการตึงเกินไป ทำให้ผลของการเจริญสติภาวนาล่าช้าลงหรือแย่ลงไปได้ หรือท่าน อาจจะมีเหตุผลอื่นต่างๆนานา ก็ยากที่จะคาดเดาได้
หลวงปู่ท่านจึงได้ให้พระทำงานอยู่ตลอด เพื่อให้พลังงานที่ได้มาได้ถูกใช้ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของ ตนเองและผู้อื่นอยู่เป็นนิจ ไม่ให้พลังงานเหล่านี้ไปส่งเสริมอำนาจของกามกิเลสทั้งหลาย เพื่อทำให้พระนั้นตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันบริสุทธิ์เอาไว้ได้


สิ่งเหล่านี้เป็นการล้วนแล้วแต่เป็นการ หล่อหลอมของครูอาจารย์ เพื่อให้ศิษย์นั้นได้ เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง
แข็งแกร่ง และอดทน พร้อมเผชิญกับสารพันปัญหา ในทุกสภาวะการณ์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
พระภิกษุที่วัดอ้อน้อยจึงมีลักษณะพิเศษ คือผอม ผิวคล้ำ แข็งแรงกำยำ ทำงานแคล่วคล่องว่องไวทำงานตลอด ทั้งวันตั้งแต่เช้าจนค่ำมืดดึกดื่น ไม่เว้นแม่แต่เจ้าอาวาส ของวัดนี้ ที่ต้องทำงาน อย่างหนักๆๆแล้วก็หนัก

เพราะที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาคือ เจ้าอาวาสต้องทำงานทุกๆอย่างที่มีอยู่ในวัด ตั้งแต่รดน้ำต้นไม้
เกี่ยวข้าว นวดข้าว ดูแลให้อาหารสัตว์ที่อยู่ในวัด ดูและงานและสถานที่ทั้งหมดของวัด ถ้าใครไม่รู้จักท่านมาก่อน เวลาเดินในวัด ก็จะแยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นเจ้าอาวาสใครเป็นพระลูกวัด เพราะทำงานหนักตากแดด ตากลม เหมือนกันจนแยกไม่ออก นี่คือลักษณะพิเศษของวัดอ้อน้อยคือ ยิ่งใครมีตำแหน่งมาก ก็ยิ่งต้องทำงานหนักมาก ภาระกรรมทั้งหลายก็ต้องมากตามไปด้วย

เจ้าอาวาสจึงต้องถูกหลวงปู่ตำหนิติด่ามากเป็นพิเศษ เป็นเจ้าอาวาสจึงไม่มีคำชมมีแต่คำด่า
หัววัดก็เจ้าอาวาส ท้ายวัดก็เจ้าอาวาส วัวตายควายตาย ข้าวของชำรุดเสียหาย ก็เจ้าอาวาส
และจากที่ผมได้สังเกตุเห็นท่านเจ้าอาวาส ท่านเองก็เป็นผู้ทรงคุณธรรมสูงผู้นึง แต่ท่านมักจะทำตัวกลมกลืน ไปกับสภาพแวดล้อม ไม่แสดงตัว ไม่อวดตัว ไม่ถือตัว ทำงานอย่างหนักมี ความอดทนและทุ่มเท ให้แก่การงานมีความรับผิดชอบสูง ถ้าเปรียบคุณธรรมของท่าน ก็เสมือนดาบชั้นเยี่ยมที่คมกริบ
ที่อยู่ภายใต้ปลอกไม้ ธรรมดาเก่าๆ มองดูภายนอกเหมือนไม่มีคุณค่าไม่มีราคา
แต่ภายในนั้นล้ำค่ายิ่งนัก ทั้งนี้ก็เป็นผลงานของหลวงปู่ บรมครูผู้ปลุกปั้น เผาให้ร้อนแล้วทุบให้คมกล้า

จนมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ ให้เห็นอยู่เนืองๆ จะเห็นได้จากศิษย์ของท่านที่เป็นภิกษุ
หลายๆรูป ที่เป็นพระวิปัสนาจารย์ไปอยู่ตามวัดต่างๆ ก็เอานำสิ่งที่หลวงปู่ท่านอบรมสั่งสอนนำไป
ประพฤติปฏิบัติ เสมือนตอนที่อยู่กับครูอาจารย์ และนำไปถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ของตน ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อ พระศาสนาและยังเป็นการสืบทอดอายุของพระศาสนา ให้ยั่งยืนและยาวนาน
ตามเจตนารมณ์ ของหลวงปู่อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น